Wednesday, June 3, 2009

"อภิสิทธิ์"ยิ้มร่าพรก.กู้เงินไม่ขัดรธน.

คมชัดลึก :ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ พ.ร.ก.กู้เงินสี่แสนล้านไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ระบุเศรษฐกิจมีปัญหาต้องแก้ไขด่วน หากไม่รีบหวั่นปัญหาลุกลาม ฝ่ายค้านชี้ไม่เสียหน้าเพราะทำตามหน้าที่ จี้รัฐบาลแสดงความจริงใจ ถ่ายทอดสดการอภิปราย คาดเข้ารัฐสภา15 -16มิ.ย.นี้

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 3 มิถุนายน ศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมเพื่อแถลงด้วยวาจา และลงมติวินิจฉัย กรณีที่ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งความเห็นของ ส.ส. ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 185 กรณีพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184 วรรคหนึ่ง และวรรคสองหรือไม่

ทั้งนี้ การประชุมใช้เวลาในการพิจารณาประมาณ 2 ชั่วโมง และใช้วิธีแจกเอกสารข่าว สรุปคำวินิจฉัยแทนการแถลงข่าว โดยเนื้อหาในคำวินิจฉัยระบุว่า คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ในทั้งสองประเด็น ประกอบด้วย

ประเด็นแรกคือ การตรา พ.ร.ก. ตราขึ้นเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184 วรรคหนึ่งหรือไม่ โดยในประเด็นนี้ คณะตุลาการเห็นว่า ขณะนี้ ภาวะเศรษฐกิจโลกทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการเมืองภายในประเทศทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและผู้ลงทุน รวมทั้งก่อให้เกิดความล่าช้าในการผลักดันโครงการต่าง ๆ ของรัฐ ระบบเศรษฐกิจเกิดการขาดสภาพคล่องทางการเงิน โดยเฉพาะรายได้จากการส่งออก และนำเข้าก็ลดลงอย่างมาก รายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เคยทำรายได้สูงสุดก็ลดลง เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ขาดความมั่นใจในสวัสดิภาพและความปลอดภัย

สิ่งบ่งชี้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบรุนแรงคือ มูลค่าการส่งออกของสินค้าไทยหดตัวลงอย่างรวดเร็ว รายได้จากการท่องเที่ยวลดลง ภาคธุรกิจปิดการมากขึ้นทำให้ปัญหาการว่างงานเพิ่มขึ้น หนี้เสียมีแนวโน้มสูงขึ้น กำลังซื้อลดลง ส่งผลให้จีดีพีหดตัวลงอย่างมาก

จากปัจจัยต่าง ๆ ทำให้รายได้ที่จัดเก็บน้อยกว่าประมาณการที่ตั้งเป้าหมายไว้ ทำให้เกิดปัญหาต่อเนื่อง ถึงความสามารถในการใช้จ่ายและจัดทำบริการสาธารณะ แม้ว่า รัฐจะได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ ทั้งการช่วยเหลือภาคอสังหาริมทรัพย์ มาตรการทางภาษี มาตรการช่วยเหลือสภาพคล่องทางการเงินให้แก่ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและเศรษฐกิจฐานราก มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน การจัดทำงบประมานรายจ่ายเพิ่มเติมในปีงบประมาณ 2552 หรือเร่งรัดการเบิกจ่ายของภาครัฐก็ตาม แต่ก็ยังไม่อาจทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่าจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง

“เมื่อพิจารณาสาระสำคัญของ พรก.ประกอบเหตุผลในการตรา พรก. ย่อมเห็นได้ว่า การที่คณะรัฐมนตรี ตรา พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 ขึ้นมา ก็เพื่อแก้ไขวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศ มิให้ตกต่ำกว่าที่เป็นอยู่ ทั้งนี้ เพื่อให้ภาครัฐในฐานะที่เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่จะช่วยสร้างกำลังซื้ออย่างเร่งด่วนในระระบบ ในช่วงที่กำลังซื้อจากทั้งในและต่างประเทศหดตัวลง จึงจำเป็นต้องรีบดำเนินมาตรการแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจโดยเร่งด่วน

เพื่อป้องกันปัญหาที่จะลุกลามไปทุกภาคส่วน อันเป็นการทำหน้าที่พื้นฐานทางเศรษฐกิจของรัฐในการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงเป็นการกระทำที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184 ววรคหนึ่งแล้ว”

ประเด็นที่สองที่ต้องพิจารณาคือ พ.ร.ก.ดังกล่าว ตราขึ้นเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 284 วรรคสองหรือไม่ ประเด็นดังกล่าวคณะตุลาการเห็นว่า เมื่อพิจารณาถึงสภาพปัญหาความมั่นคงในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ไม่ว่ามูลค่าการส่งออกที่หดตัวลงอย่างรวดเร็ว รายได้จากการท่องเที่ยวที่ลดลง มีการปิดกิจการหรือเพิ่มมากขึ้น ปัญหาการว่างงานเพิ่มมากขึ้น หนี้เสียพุ่งสูงขึ้น ทุกปัจจัยส่งผลกระทบให้เกิดภัยวิกฤติเศรษฐกิจ จนรัฐบาลต้องเร่งดำเนินการแก้ไขวิกฤติในหลายทาง แต่สภาวะเศรษกิจก็ยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่องจึงถือเป็นกรณีที่มีความฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วน อันมิอาจหลีกเลี่ยงได้เกิดขึ้นแล้ว

“ดังนั้น เมื่อพิจารณาถึงเหตุที่เป็นกรณีความฉุกเฉิน ที่มีความจำเป็นอันรีบด่วน อันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ดังกล่าวข้างต้น ประกอบสาระสำคัญและกรอบการดำเนินการตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 แล้ว ยังไม่มีมูลกรณีให้เห็นว่า คณะรัฐมนตรีได้ตรา พรก.ขึ้นมาโดยไม่สุจริตหรือใช้ดุลยพินิจบิดเบือนหลักการรัฐธรรมนูญ จึงเห็นว่า การตรา พ.ร.ก.นี้ขึ้นมา เป็นกรณีความฉุกเฉินที่มีความจำเป็นอันรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184 วรรคสองแล้ว”

ด้านนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวภายหลังทราบคำวินิจฉัยว่า พรรคเพื่อไทยได้ทำหน้าที่ฝ่ายค้านในการตรวจสอบแทนประชาชนแล้ว ซึ่งพรก.ฉบับนี้จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาในการประชุมสมัยวิสามัญนี้ ขอเรียนร้องให้รัฐบาลแสดงความจริงใจ โดยถ่ายทอดสดการอภิปรายฯ เพื่อให้ประชาชนที่เป็นเจ้าของเงินและเจ้าของประเทศทราบ ข้อเท็จจริง โดยฝ่ายค้านจะนำเสนอข้อเท็จจริงและชี้ให้เห็นว่าประชาชนจะได้รับประโยชน์จากการออก พ.ร.ก.ดังกล่าวจริงหรือไม่

เมื่อถามว่า มติศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาถือว่าฝ่ายค้านเสียหน้าหรือไม่ นายพร้อมพงศ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ได้เป็นการเตะถ่วง และตามกฎหมายแล้วฝ่ายค้านไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบทางการเมือง เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 185 เปิดโอกาสให้ฝ่ายค้านทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้ และเมื่อเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของสภา ฝ่ายค้านโดยนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ในฐานะประธานกรรมาธิการการเงินการคลัง การธนาคารและสถาบันการเงินสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งนายวิทยา บูรณะศิริ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคฝ่ายค้าน ก็เตรียมอภิปรายเกี่ยวกับการใช้เงินว่าสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงหรือไม่ และเมื่อรัฐบาลนำเงินไปใช้แล้วจะมีผลสัมฤทธิ์แค่ไหน และในสัปดาห์หน้าจะมีการเรียกประชุมส.ส.เพื่อแบ่งทีมในการอภิปราย

ขณะที่นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ฝ่ายค้านยอมรับในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งประชาชนมีทั้งที่สบายใจและไม่สบายใจกับคำวินิจฉัยที่ออกมา แต่ในฐานะฝ่ายค้านก็จะทำหน้าที่ตรวจสอบ การบังคับใช้ พ.ร.ก.ต่อไปว่า การนำเงินไปลงทุนเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่ การนำเงินไปปิดหีบงบประมาณ ก็ต้องมีรายละเอียดที่ชัดเจน ไม่มั่ว มีการใช้จ่ายเงินอย่างระมัดระวัง

ทั้งนี้ ก็หวังว่า รัฐบาลจะนำเงินดังกล่าวไปกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้น เพราะวันนี้ต้องยอมรับว่าเงิน 4 แสนล้านเป็นเช็คเปล่า ๆ ที่เหมือนรัฐบาลกรอกเอาเอง ถ้ารัฐบาลชี้แจงไม่ชัดเจนในการนำเงินไปลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจเราคงไม่เห็นด้วย ที่จะให้ พ.ร.ก.ฉบับนี้ผ่าน ในการประชุมสภา เพราะหลายโครงการไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์แท้จริง แต่เป็นการเอาใจพรรคร่วมรัฐบาล แต่ถ้าชี้แจงได้ชัดเจนฝ่ายค้านก็พร้อมที่จะให้ผ่าน

"ฝ่ายค้าน คงไม่ผนึกกำลังกับส.ว.เพื่อที่จะล้มพรก.ฉบับนี้ เพราะการประชุมสภาที่จะเกิดขึ้น ไม่ใช่การประชุมร่วม และคิดว่า ในพรรคฝ่ายค้านก็คงไม่ต้องมีมติออกมา แต่จะเป็นการให้ผู้ที่สนใจอภิปรายไปศึกษาและมาอภิปรายในที่ประชุมสภา"

"อภิสิทธิ์"ยิ้มร่าพรก.กู้เงินไม่ขัดรธน.

รายงานข่าวจากที่ประชุมครม.แจ้งว่า ในช่วงการประชุมครม. นายชุมพล ศิลปอาชา รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา ได้สอบถามนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีว่า ทราบผลการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่มีมติเป็นเอกฉันท์ว่าร่างพ.รก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาทไม่ขัดรัฐธรรมนูญแล้วหรือไม่ โดยนายอภิสิทธิ์ถามว่า มติเอกฉันท์แบบไหน นายชุมพลตอบว่า เอกฉันท์ว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ จากนั้นนายกฯยิ้มและกล่าวว่า เป็นข่าวดีไม่อย่างนั้นคงต้องมีอะไรใหม่ๆเกิดขึ้น

คาดนำพ.ร.ก.กู้เข้ารัฐสภา15 -16มิ.ย.นี้

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล ให้สัมภาษณ์หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินไม่ขัดรธน.ด้วยมติ 9 ต่อ 0 เสียงว่า วิปรัฐบาลจะประชุมกันภายในอีกครั้งในวันที่ 8 มิ.ย.นี้เพื่อกำหนดว่า จะนำ พ.ร.ก.และร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและ ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 ขอความเห็นชอบจากรัฐสภาเมื่อไร

อย่างไรก็ตามเบื้องต้นกำหนดว่า ในการขอเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญวันที่ 15-23 มิ.ย.จะนำพ.ร.ก.และร่างพรบ.กู้เงินเข้ารัฐสภาวันที่ 15-16 มิ.ย.นี้จากนั้นถึงจะเป็นร่างพ.ร.บ.งบประมาณและเชื่อว่า สมาชิกทั้งสองสภาจะให้ความเห็นชอบ แม้ว่าจะมี ส.ว.จะประกาศว่าจะไม่ลงมติสนับสนุนพ.ร.ก.หากครม.อนุมัติโครงการรถเมล์เอ็นจีวีก็ตามและไม่อยากให้นำเรื่องนโยบายรัฐบาลมาต่อรองกับการลงมติ

ทั้งนี้ในช่วงดังกล่าววิปรัฐบาลได้แจ้งต่อส.ส.ที่เป็นกรรมาธิการในสภาในสัดส่วนของรัฐบาลว่า ไม่ควรเดินทางไปต่างประเทศเพื่อขอให้มีการประชุมพิจารณากฎหมายสำคัญก่อน เพราะหากกฎหมายสำคัญของรัฐบาลไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ครม.ก็ต้องลาออก รัฐบาลก็ต้องยุบสภาตามธรรมเนียมปฏิบัติ แต่เชื่อว่า กฎหมายจะผ่านไปด้วยดี

ผู้สื่อข่าวถามว่าพรรคภูมิใจไทยอาจตีรวนและงดออกเสียงพ.ร.ก.เพื่อตอบโต้พรรคประชาธิปัตย์นั้น นายชินวรณ์ กล่าวว่า ในส่วนของวิปรัฐบาลที่มาจากทุกพรรคไม่มีปัญหา และไม่เคยวิตกเพราะทุกเข้าใจดีว่า ถึงความรับผิดชอบในฐานะ สส.รัฐบาลที่ต้องผ่านกฎหมายของรัฐบาล

"สุเทพ"ลั่นเดินหน้าร่างพรก.กู้เงิน4แสนล.

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมครม. ถึงการดำเนินการหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การออกร่างพรก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาท ไม่ขัดรัฐธรรมนูญว่า ต้องเป็นไปตามกติกา รัฐบาลเสนอร่างพรก.ฉบับนี้เข้าสภา แต่ฝ่ายค้านบอกว่า ขัดรัฐธรรมนูญ ก็เสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา เมื่อศาลพิจารณาแล้วว่า ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ สภาก็ต้องเดินหน้าพิจารณา ร่างพรก.ฉบับนี้ต่อไป

"เมื่อรัฐบาลประกาศเปิดประชุมสมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี2553 ก็คงจะพิจารณา ร่างพรก.ฉบับนี้ไปด้วยเลย"

เมื่อถามว่า ที่ผ่านมาดูเหมือนฝ่ายค้านจะตีรวน นายสุเทพ กล่าวว่า อย่าไปคิดว่า เขาตีรวน คิดว่า เขาทำหน้าที่ของเขา และเราก็ทำหน้าที่ของเราไม่เป็นปัญหาว่ากันตามกติกา

No comments:

Post a Comment